อีเมล์ :
รหัสผ่าน :
ลืมรหัสผ่าน
โหมดการเข้าถึงสำหรับผู้พิการ
ปรับขนาดตัวอักษร
ภาษา
ตารางการปฏิบัติกิจวัตร
วัดถ้ำสุมะโน
"สืบสานศาสนทายาทสืบทอดอายุพระศาสนา"
“วัดถ้ำสุมะโน”เป็นสำนักปฏิบัติธรรมแห่งที่ ๒ ของจังหวัดพัทลุง ได้ถูกค้นพบโดย พระอาจารย์เดช สุมโน เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๐ ตรงกับวันอังคารขึ้น ๒ ค่ำเดือน ๖ ปีเถาะ ขณะนั้นท่านมีอายุ ๓๖ ปี พรรษาที่ ๑๔ พื้นที่วัดถ้ำสุมะโนเป็นภูเขาลูกเล็กๆตั้งอยู่ที่ ต.บ้านนา อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง อยู่บนเส้นทางพัทลุง-ตรัง ห่างจากตัวจังหวัดพัทลุง ๒๕ ก.ม. มีเนื้อที่กว่า ๕๐๐ ไร่ ครอบคลุมภูเขาสองลูก ร่มรื่นด้วยพืชพันธ์ตามธรรมชาติ ทัศนียภาพรอบวัดเป็นเทือกเขาบรรทัดสลับซับซ้อน ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยสวยงาม ภายนอกมีลำธารไหลผ่านตลอดทั้งปี นับว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามแห่งหนึ่งของประเทศไทย ปัจจุบันวัดถ้ำสุมะโนยังได้รับคัดเลือกให้เป็นสำนักปฏิบัติธรรมดีเด่นของจังหวัดพัทลุงอีกด้วย
พระอาจารย์เดชเล่าว่า ก่อนหน้าที่จะพบถ้ำแห่งนี้เมื่อท่านเรียนจบปริยัติธรรมสมความมุ่งหมายแล้ว ท่านได้ออกธุดงค์ปฏิบัติตนเจริญรอยตามแนวทางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กระทั้งช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๒๕ พระอาจารย์เดช สุมโน ขณะที่ท่านได้เจริญภาวนาภายในอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ท่านได้ตั้งจิตอธิษฐานขอให้พบถ้ำที่ถูกใจเพื่อให้เป็นสถานที่ในการปฏิบัติธรรม สร้างบารมีตามรอยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ภาพถ้ำก็ได้ปรากฏในนิมิตของท่านอย่างอัศจรรย์ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้ถือเอานิมิตนั้นออกธุดงค์เพื่อค้นหาถ้ำตามสถานที่ต่างๆ ทั้งทางภาคอีสานภาคเหนือ ภาคกลาง แต่ก็ไม่พบ ต่อมาพระอาจารย์เดช สุมโน ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ อีกครั้งเพื่อสอนปริยัติธรรมแก่ภิกษุสามเณรเพื่อตอบแทนคุณครูบาอาจารย์ เมื่อว่างจากกิจการวัดก็ออกธุดงค์เพื่อทำปณิธานของท่านให้เป็นจริง คือการค้นหาถ้ำที่ปรากฏในนิมิต
กระทั้งปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ท่านได้ธุดงค์ไปจังหวัดนครพนมและตั้งจิตอธิษฐานต่อองค์พระธาตุพนมขอให้พบถ้ำดังกล่าวที่เคยปรากฏในนิมิต หลังออกพรรษาท่านก็ธุดงค์ลงใต้มาเรื่อยๆ โดยจำพรรษาที่จังหวัดภูเก็ต และในปีต่อมาขณะที่ท่านจำพรรษาที่วัดถ้ำเชียงดาวจังหวัดเชียงใหม่ท่านได้ปฏิบัติจนเกิดสภาวะธรรมขึ้นในใจว่า ”การค้นหาถ้ำภายนอกนั้นไม่มีประโยชน์อะไรมากนัก สู้หาถ้ำภายในคือสติจะดีกว่า” และในคืนนั้นเองขณะนั่งสมาธิก็ปรากฏนิมิตมีเทวดามาบอกท่านว่าถ้ำที่ท่านค้นหานั้นอยู่ที่จังหวัดพัทลุงใกล้บริเวณเทือกเขาบรรทัดทางไปจังหวัดตรัง
ต่อมาต้นปี ๒๕๓๐ ท่านได้ธุดงค์มาทางภาคใต้จนถึงจังหวัดภูเก็ต เวลานั้นท่านได้ชักชวนชาวภูเก็ตที่เลื่อมใสในตัวท่านให้มาปฏิบัติธรรมมากขึ้นจนเป็นที่เคารพสักการะของลูกศิษย์อย่างกว้างขวาง กระทั่งท่านมีดำริจะเดินทางไปจังหวัดพัทลุง เพื่อพิสูจน์ถ้ำตามที่เคยปรากฏในนิมิตและเพื่อทำตามมโนปณิธานให้สำเร็จเป็นจริง
วันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๐ ท่านเดินทางมาจังหวัดพัทลุงพร้อมคณะศรัทธาชาวภูเก็ตเป้าหมายคือบริเวณผืนป่าหมู่บ้านน้ำใต้บ่อ หมู่บ้านนาวง ใกล้บริเวณทางขึ้นเทือกเขาบรรทัดไปจังหวัดตรัง ครั้งแรกที่ท่านพบกับชาวบ้านผู้คนก็เข้าใจว่าท่านมาหาเหล็กไหลจึงไม่มีใครให้ความร่วมมือ แต่ต่อมาเมื่อได้ทราบความประสงค์ที่แท้จริงของท่านจึงช่วยพาคณะของท่านไปค้นหาถ้ำในบริเวณภูเขาใกล้หมู่บ้านนั้น ก็ได้พบถ้ำหลายถ้ำที่มีอยู่แล้ว เช่นถ้ำน้ำลอด ถ้ำน้ำใต้บ่อ แต่ล้วนไม่ใช่ถ้ำที่ปรากฏในนิมิต พระอาจารย์เดชสุมโนและคณะจึงได้เดินทางต่อไปยังเขารูปช้าง อำเภอปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลาโดยไม่คิดจะย้อนกลับมาจังหวัดพัทลุงอีก ในขณะที่พักอยู่นั้นท่านได้เจริญจิตภาวนาก็ปรากฏนิมิตมีเทวดามาบอกอีกว่าให้กลับไปหาถ้ำที่เดิมและต้องไปเพียงรูปเดียว
ดังนั้นเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๐ พระอาจารย์เดชสุมโน และคณะก็เดินทางย้อนกลับมาที่จังหวัดพัทลุงและพักที่ถ้ำน้ำใต้บ่อ วันรุ่งขึ้นท่านและชาวบ้านได้เดินตามร่องน้ำเป้าหมายคือภูเขาในป่ารกทึบเบื้องหน้า ในขณะที่คนอื่นๆกำลังสำรวจหาถ้ำที่ภูเขาลูกใหญ่อยู่นั้น ท่านก็ปลีกตัวมาสำรวจภูเขาลูกเล็กๆที่อยู่ใกล้กัน เมื่อท่านแหวกป่าเข้ามาถึงก็พบโพรงหินเล็กๆมีดินกลบอยู่เกือบเต็ม เพียงพบเห็นครั้งแรกท่านก็ทราบได้ทันทีว่านี่คือถ้ำที่ปรากฏในนิมิตเมื่อหลายปีก่อน ท่านจึงก้มลงเดินเข้าไปภายในมองไปรอบๆถ้ำด้วยความปลื้มปิติพร้อมกับเปล่งวาจาตั้งสัจจะอธิษฐานว่า “ข้าพเจ้าจะพัฒนาถ้ำแห่งนี้ให้เป็นที่รวมญาติสายโลหิตแห่งธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”
เมื่อท่านจบคำอธิษฐาน ก็ได้ยินเสียง สาธุ สาธุสาธุ ดังกึกก้องพร้อมกันทั่วบริเวณถ้ำ ชาวคณะและชาวบ้านเมื่อทราบว่าท่านพบถ้ำในนิมิตแล้วก็ต่างพากันดีใจเป็นการใหญ่ ชาวบ้านในพื้นที่บางคนกล่าวว่าบริเวณนี้เป็นภูเขาลูกเล็กมีโพรงหินพอเข้าไปได้ เคยเห็นกันมานมนานแล้วแต่ก็ไม่คิดว่าจะเป็นถ้ำ คิดว่าเป็นแค่โพรงหินเท่านั้นและคิดไม่ออกว่าพระอาจารย์เดช สุมโน จะพัฒนาให้เป็นถ้ำใหญ่ได้อย่างไร
ต่อมาในวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ พระอาจารย์เดช สุมโน และคณะคุณณรงค์ นพดารา รวมทั้งพุทธศาสนิกชนชาวภูเก็ต ได้เริ่มพัฒนาถ้ำเป็นครั้งแรก ดินที่กลบอยู่ภายในถ้ำได้ถูกขุดขนออกมาเรื่อยๆเผยให้เห็นความใหญ่โตสวยงามของถ้ำขึ้นเป็นลำดับ ลักษณะของถ้ำจึงอยู่ต่ำกว่าพื้นดินหลายเมตร มองข้างนอกจะไม่ค่อยเห็นแต่ถ้ายืนที่ปากถ้ำแล้วมองลงไปจะเห็นความอลังการของถ้ำซ่อนอยู่ พื้นของถ้ำปูด้วยอิฐซีเมนต์ทำให้ดูดซับน้ำเวลาฝนตกได้ดี ภายในถ้ำจุคนได้หลายร้อยคน โถงถ้ำแห่งนี้ถูกตั้งชื่อว่าปราสาทนพดาราตามชื่อของโยมที่บริจาคในการพัฒนาถ้ำครั้งแรกเพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าภาพ แต่คนส่วนมากก็รู้จักกันในนาม “ถ้ำสุมะโน” ตามฉายาของพระอาจารย์เดชและเรียกกันติดปากว่า “ถ้ำสุมะโน” เช่นเดียวกัน ต่อมาผู้มีจิตศรัทธาได้รวบรวมปัจจัยซื้อที่ดินรอบภูเขาถวายและได้รับการแต่งตั้งเป็น”วัดถ้ำสุมะโน”ตามฉายาของพระอาจารย์เดช สุมโนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ และท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก นำพาพุทธศาสนิกชนสร้างบารมีธรรมสมดังเจตนารมณ์ที่ท่านตั้งใจปรารถนาไว้แล้วทุกประการ
นับแต่นั้นเป็นต้นมาวัดถ้ำสุมะโนได้รับการพัฒนาขึ้นโดยลำดับ ไม่ว่าจะเป็นถ้ำต่างๆสถานที่เสนาสนะกุฏิที่พักพระสงฆ์ เพื่อให้เพียงพอแก่ผู้มาเยือนถ้ำแห่งนี้ ทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดพัทลุง ในแต่ละวันก็มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชมอย่างไม่ขาดสาย บ้างก็มาปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะวันหยุดหรือเทศกาลสำคัญต่างๆก็จะมีผู้คนมาเที่ยวชมสถานที่มากเป็นพิเศษ ผู้ที่มาวัดถ้ำสุมะโนจึงได้ทั้งมิติแห่งการท่องเที่ยว และมิติในด้านการปฏิบัติธรรม
ประวัติ พระครูภาวนาสุมณฑ์ (พระอาจารย์เดช สุมโน)
พระอาจารย์ เดช สุมโน เกิดวันที่ ๖ มกราคม ๒๔๙๔ ภูมิลำเนาเดิมอยู่บ้านปอแดง ตำบลภูหลวง อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา บิดาชื่อนายทราย หอกกิ่ง มารดาชื่อ นางสิน หอกกิ่ง มีพี่น้องร่วมอุทรจำนวน 6 คน เป็นบุตรคนที่ ๑ มีอาชีพทำไร่-ทำนา ซึ่งนับว่าครอบครัวมีฐานะค่อนข้างดีในละแวกนั้น บรรพบุรุษล้วนแล้วแต่เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม และบวชรับใช้พระศาสนาสืบต่อเนื่องกันมา เช่น พระน้าชาย (น้องชายแม่) ของพระอาจารย์เดช บวชเป็นพระและเป็นเจ้าอาวาสวัดปอแดง (ลาออกจากเจ้าอาวาสไปธุดงค์)ปัจจุบันบิดาก็บวชเป็นพระ ชื่อ หลวงพ่อ “ทราย” มารดาชื่อสิน ก็ปฏิบัติธรรมบวชเป็นชีพราหมณ์
พระอาจารย์เดชได้บวชเป็นพระ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๑๖ โดยพระครูสาทรคณารัก (หลวงพ่อก้อน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เงินเป็นกรรมวาจาจารย์ และพระมหาธนิต ปญฺญาปสุโต ป.ธ 9 เป็นพระอาจารย์สอนกรรมฐาน ซึ่งพระมหาธนิตเป็นพระที่เก่งทั้งปริยัติธรรมและปฏิบัติธรรมองค์หนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงมาก และเป็นที่เคารพของพระภิกษุสงฆ์จำนวนมากมาย และตลอดจนพุทธศาสนิกชนทั่วไปทั้งภาคอีสานและภาคกลาง เป็นที่รู้จักกันทั่วไป และปี ๒๕๐๐ ออกธุดงค์ จนปี ๒๕๓๑ จึงถึงมรณภาพ ศพบำเพ็ญที่สำนักปฏิบัติธรรมวัดประโดก จังหวัดนครราชสีมา
พระอาจารย์เดช สุมโน เมื่อออกบวชแล้วออกธุดงค์ปฏิบัติธรรม ๕ พรรษา แล้วหันเข้ามาศึกษาปริยัติธรรม ๗ พรรษา จบนักธรรมชั้นเอก อภิธรรมมัชฌิมเอก ออกธุงค์อีก ๒ พรรษา จึงพบถ้ำสุมะโนที่จังหวัดพัทลุง และจำพรรษา เป็นประธานดำเนินการพัฒนาถ้ำครั้งแรก วันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๐ จนถึงปัจจุบัน
ประวัติถ้ำสุมะโน
      ถ้ำสุมะโน ถูกค้นพบโดยพระอาจารย์เดช สุมโน (พระครูภาวนาสุมณฑ์) เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๓๐ ต่อมาคณะชาวภูเก็ต นำโดยคุณโยมณรงค์ นพดารา ได้ถวายความอุปถัมภ์ และชักชวนพุทธบริษัทร่วมกันพัฒนาถ้ำเป็นครั้งแรกและมีผู้มีจิตศรัทธาได้บริจาคศรัทธาปัจจัยซื้อที่ดินรอบภูเขา ๒ ลูก เพื่อสร้างวัดทำให้บริเวณวัดกว้างขวาง ครอบคลุมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๕๐๐ ไร่ ค้นพบถ้ำบริวาร ๑๒ ถ้ำ ได้รับการพัฒนาแล้ว ๗ ถ้ำ ดังนี้
ถ้ำโบสถ์
     สมมติให้ถ้ำนี้เป็นโบสถ์ของวัดถ้ำสุมะโน ใช้ในการสวดปาฏิโมกข์ และพิธีกรรมต่างๆของพระสงฆ์
ถ้ำหอฉันบรรจบ
     ใช้เป็นที่ไหว้พระสวดมนต์ และชาวบ้านนำอาหารมาถวายพระ และเป็นที่ฉันข้าวของพระ
ถ้ำโรงธรรม
     ใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรมสวดมนต์ไหว้พระ ทำวัตรเช้า-เย็น และใช้เป็นที่ประกอบพิธีต่างๆซึ่งถ้ำนี้สวยงามมากกว้างขวางสามารถบรรจุคนได้ประมาณ ๑,๕๐๐ คน
ถ้ำกัมมัฏฐานอรทัย
     ใช้เป็นห้องปฏิบัติธรรม ฝึกสมาธิ นั่งกัมมัฏฐาน ภายใน ถ้ำนี้ก็สวยงามมาก เพราะมีหินงอกหินย้อยสวยงาม มีแท่นหินสีขาวด้านหลังมีที่พิงเหมือนบัลลังก์นั่ง มีหินสีขาวแวววาวคล้ายเพชร
ถ้ำพุทธบัณฑิต
     ท่านพระครูสมุห์ศิริ ปณฺฑิโต เจ้าอาวาสวัดอมราวราราม กทม. มาช่วยพัฒนา แล้วนำญาติโยมมาซื้อที่ดินหน้าถ้ำพุทธบัณฑิตถึง ถ้ำน้ำลอดมีเนื้อที่ประมาณ ๘ ไร่ถวายวัดถ้ำสุมะโน
ถ้ำน้ำลอด
     เป็นหนึ่งในเจ็ดถ้ำบริวารที่ได้รับการพัฒนาแล้ว ภายในถ้ำพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์ใหญ่ มีความยาวประมาณ ๕ วา สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๐๑ ถ้ำน้ำลอด เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพุทธบริษัทที่มีความเลื่อมใส ในช่วงเวลานั้นมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจและมีเรื่องราวที่สัมพันธ์สอดคล้องกับถ้ำสุมะโน ดังคำบอกเล่าของท่านพระครูโกวิทธรรมสาร หรือพระอธิการกลาย โกวิโท เจ้าคณะอำเภอรัตภูมิ และเจ้าอาวาสวัดห้วยหลาด พ.ศ.๒๕๐๒-ปัจจุบัน ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ได้ร่วมสร้างพระพุทธรูปองค์ดังกล่าว ท่านพระครูโกวิทได้เล่าว่า ในสมัยที่ท่านพระอาจารย์ขาว ตังสะวังโส ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดห้วยหลาด องค์ที่ ๓ นั้น พ.ศ.๒๔๙๔-๒๔๙๘ ได้มีหลวงปู่สีมั่น เทพอินโท มาประทับทรง ได้ปรารภการสร้างบารมีธรรม โดยอาศัยท่านอาจารย์ขาว หลวงปู่สีมั่น ได้บอกท่านขาว ท่านเจียร มณีรักษ์ และท่านกลาย พร้อมทั้งลูกศิษย์ ออกธุดงค์เผยแผ่ธรรมไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (ทิศพายัพ) ของวัด

     ในปี พ.ศ.๒๕๐๑ คณะสงฆ์ได้เดินออกธุดงค์ไปทางจังหวัดพัทลุง ตำบลท่ามิหรำ คณะอุบาสก-อุบาสิกา นำโดย โยมเต็กลี่ (นายบำรุง ลิ่มชัยพฤกษ์) นายกเทศมนตรีเมืองพัทลุงในขณะนั้น เกิดความเลื่อมใสได้กราบเรียนคณะธุดงค์เดินทางไปชมธรรมชาติที่สวยงาม ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของถ้ำน้ำใต้บ่อ ท่านกลายได้เดินทางไปพักที่วัดอินทราวาส (วัดลำใน) การเที่ยวชมธรรมชาติในครั้งนั้น ได้พบถ้ำน้ำลอด ซึ่งเป็นที่พอจะบำเพ็ญสมณธรรมได้ แต่หน้าถ้ำทางเข้าเป็นป่ายาง หนทางการเข้าออกในครั้งนั้นจึงมีความลำบากพอสมควร แต่ก็ด้วยบารมีธรรม โยมบำรุง ลิ่มชัยพฤกษ์ เป็นคหบดี มีฐานะดีในพัทลุงสมัยนั้น และโยมปิกเป็นภรรยาและโยมลั่นซึ่งเป็นญาติสนิท ได้ร่วมกันช่วยเหลือท่านอาจารย์ขาว และคณะติดตาม ทำการพัฒนาสถานที่เต็มกำลังสามารถ ได้ออกทุนทรัพย์ หาไม้มาปูพื้น สร้างที่พักบริเวณหน้าพระนอนในปัจจุบัน โยมลั่นรับเป็นธุระผู้จัดอาหารถวายพระ และพระก็ออกบิณฑบาตโปรดญาติโยมในละแวกน้ำใต้บ่อนาวง